วันศุกร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ริษัท เซ็นเตอร์ ออโต้ ลีส สวมบทบาทฮีโร่ทางการเงิน ให้คำปรึกษาเรื่องซื้อรถใหม่-เก่า บุกฐานลูกค้าธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ดันสินเชื่อเอนกประสงค์สำหรับคนมีรถ "เซ็นเตอร์ ออโต้ แคช" เต็มสูบ

 17/06/57

นายวิสิทธิ์ พึ่งพรสวรรค์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เซ็นเตอร์ ออโต้ ลีส จำกัด (CAL) (Mr. Visit Phuengpornsawan, Managing Director, Center Auto Lease) ผู้ให้บริการสินเชื่อรถยนต์ ในกลุ่มธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า กลยุทธ์ในปีนี้ เซ็นเตอร์ ออโต้ ลีส จะสวมบทบาทเป็น "ฮีโร่" ทางการเงินสำหรับผู้ที่กำลังมองหาสินเชื่อ และผลิตภัณฑ์การเงินครบวงจรที่เกี่ยวกับรถยนต์ทั้งรถใหม่และรถเก่า ด้วยสโลแกน "มีฮีโร่รถสี่ล้อคู่ใจ เรื่องใหญ่กลายเป็นเรื่องเล็ก" โดยนอกจากนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินแล้ว เซ็นเตอร์ ออโต้ ลีส จะทำหน้าที่ดูแลลูกค้าโดยให้คำปรึกษาแก่ลูกค้าที่กำลังจะซื้อรถยนต์ รวมถึงผู้ที่เป็นเจ้าของรถยนต์อยู่แล้วและ ต้องการเงินทุนหมุนเวียน

สำหรับผลิตภัณฑ์ที่กำลังรุก ทำการตลาดในขณะนี้คือ สินเชื่อสำหรับคนมีรถ "เซ็นเตอร์ ออโต้ แคช" อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นเพียง 0.25% ต่อเดือน ระยะเวลาผ่อนนานถึง 84 เดือน พิเศษ สำหรับผู้ที่สมัครและได้รับอนุมัติสินเชื่อภายใน 31 ส.ค. 2557 จะได้รับของสมนาคุณเป็นกล่องรถสี่ล้อคู่ใจ มูลค่า 999 บาท อีกด้วย

"ปีนี้เราจะรุกธุรกิจ Sale & Leaseback โดยใช้มาสคอตฮีโร่เป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งฮีโร่ หมายถึง เราจะเป็น ฮีโร่ในใจของลูกค้า ในการเป็นที่ปรึกษา ผลิตภัณฑ์สินเชื่อ เซ็นเตอร์ ออโต้ แคช จะช่วยลูกค้าที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียน หรือมีความจำเป็นต้องใช้เงิน โดยเริ่มจากฐานลูกค้าของธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ซึ่งในปีนี้บริษัทฯ จะนำเสนอบริการครอบคลุมไปถึงสาขาต่างจังหวัดด้วย จากปีที่แล้วที่ทำตลาดเฉพาะในกรุงเทพฯ ทั้งนี้ เซ็นเตอร์ ออโต้ ลีส ยังมีแผนจับตลาดรถบรรทุกใหม่ ,รถบรรทุกใช้แล้ว และสินเชื่อ 'เซ็นเตอร์ ออโต้ แคชรถบรรทุก' เน้นขยายฐานลูกค้า กลุ่มผู้ประกอบการที่มีรถเป็นของตัวเอง และต้องการเงินทุนเพิ่มเติม หรือต้องการขยายกิจการ เพียงติดต่อ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ทุกสาขา ใกล้บ้านท่าน หรือ โทร.02-673-9988 ทางบริษัทยินดีที่จะให้คำปรึกษา" นายวิสิทธิ์ กล่าว

นายวิสิทธิ์ กล่าวว่า การขยายธุรกิจจากฐานลูกค้าของธนาคารนับเป็นโอกาสที่เหมาะกับตลาดในช่วงนี้ เพราะเป็นลูกค้ากลุ่มที่ธนาคารได้กลั่นกรอง และรู้จักลูกค้ามาแล้วในระดับหนึ่ง ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดหนี้ ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาตัวเลขหนี้เอ็นพีแอลของบริษัท นับว่าอยู่ในระดับที่ดี เมื่อเทียบกับตลาด จากข้อมูลการสำรวจตลาดผู้เล่นรายอื่นในพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์โดยรวม จะมีรถใหม่ราวๆ 70% ที่เหลือเป็นรถเก่า 30% มี NPL ประมาณ 1-2% ขณะที่พอร์ตสินเชื่อของบริษัทเป็นรถเก่า โดยรถใหม่ และรถบรรทุก ซึ่งเริ่มต้นในปีนี้ บริษัทมี NPL เฉลี่ยราวๆ 2% ซึ่งเป็นตัวเลขที่คุมได้ดีเมื่อเทียบกับสัดส่วนที่มีรถเก่าเป็นส่วนใหญ่

"ปัจจุบัน เซ็นเตอร์ ออโต้ ลีส มีขนาดพอร์ตสินเชื่อ 1.4 หมื่นล้านบาท อาจไม่ใหญ่มากเมื่อเทียบกับผู้เล่นรายใหญ่ๆ ในตลาด แต่จุดแข็งอยู่ที่ความรวดเร็ว คล่องตัว ดูแลลูกค้าใกล้ชิด ใช้การผสานพลังจากเครือข่ายของธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ที่มีสาขาทั่วประเทศ และมีระบบที่พร้อมให้บริการ มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับดีลเลอร์รถยนต์ หากเรานำจุดแข็งทั้งหมดที่มีผสานเข้ากับความเข้าใจลูกค้าและการ ให้บริการที่ดี เซ็นเตอร์ ออโต้ ลีส จะเป็นอีกหนึ่ง ผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่จะเข้าไปอยู่ในใจของผู้บริโภค ยิ่งไปกว่านั้น ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ซึ่งเป็นบริษัทแม่ มีเป้าหมายชัดเจนของการก้าวเป็นธนาคารเพื่ออาเซียน รองรับการมาของ AEC นับเป็นโอกาสและเป็นตลาดที่จะกว้างขึ้นมาก ซึ่งรอให้เราขยายธุรกิจได้อีกในอนาคต" นายวิสิทธิ์ กล่าว




วันจันทร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2557

สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย มองไทยใกล้สิ้นสุดยุคดอกเบี้ยต่ำ...เตือนรับมือดอกเบี้ยขาขึ้นปลายปีนี้

18/06/57
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า จากการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.00% เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2557 เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ นั้น สำนักวิจัยฯมองว่า ภายหลังจากที่มีรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มทำให้นโยบายทางการคลังสามารถกลับมาทำหน้าที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ ด้วยการเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณ ดังนั้นนโยบายทางการเงินจึงไม่จำเป็นต้องผ่อนคลายลงไปอีกเพื่อทำหน้าที่กระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ควรหันกลับไปทำหน้าที่หลักด้วยการดูแลเสถียรภาพราคาและค่าเงินอีกทั้งความเชื่อมั่นของทั้งผู้บริโภคและนักลงทุนก็มีท่าทีจะพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น อันจะสนับสนุนให้เศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีฟื้นตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะหากนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาท่องเที่ยวในประเทศไทย ก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคบริการเป็นอย่างดี
                                                                 
"ด้วยปัจจัยด้านนโยบายการคลังที่เริ่มเร่งตัว และความเชื่อมั่นที่เริ่มฟื้น จึงคาดว่าเศรษฐกิจไทยกำลังจะสิ้นสุดยุคดอกเบี้ยต่ำ เนื่องจากเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวจะเร่งให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น อันจะเป็นเหตุให้ทางกนง.ต้องหันมาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อรักษาเสถียรภาพ สำนักวิจัยฯคาดว่ากนง. อาจเริ่มปรับดอกเบี้ยขึ้นได้รอบแรกในเดือนธันวาคมนี้ และจะทยอยปรับดอกเบี้ยต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า ดังนั้น ภาคธุรกิจควรเตรียมพร้อมรับมือกับดอกเบี้ยขาขึ้น และสภาพคล่องที่จะตึงตัวได้ " นายอมรเทพ กล่าว

นายอมรเทพ กล่าวว่า เมื่อเศรษฐกิจเข้าสู่ช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ครัวเรือนที่มีหนี้สูงควรระมัดระวังการก่อหนี้เพิ่ม โดยเฉพาะหากแนวโน้มรายได้ที่คาดว่าจะได้รับเติบโตได้ไม่มากนัก ในส่วนของการลงทุนซื้อบ้าน ช่วงนี้อาจเป็นจังหวะที่ดีที่ผู้ประกอบการมีการแข่งขันกันมาก อันเป็นผลให้ราคาอยู่ในระดับไม่สูงขึ้นนัก สำหรับผู้ฝากเงิน ช่วงนี้อาจเลือกการฝากประเภทคงดอกเบี้ยในระยะ 6 เดือนก่อน เพื่อเปิดโอกาสให้ได้รับผลตอบแทนสูงขึ้นในอนาคต

ในขณะที่ภาคธุรกิจที่คาดว่าจะเร่งการลงทุนในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้าอาจจะต้องมีการเตรียมความพร้อมด้านการเงิน ทั้งจากสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์เองที่จะเริ่มตึงตัวมากขึ้น และจากต้นทุนการเงินหรือดอกเบี้ยที่จะขยับขึ้น ดังนั้น ธุรกิจเองจึงควรหาทางระดมทุนแต่เนิ่นๆ และเลือกที่จะกู้เงินประเภทคงอัตราดอกเบี้ยไว้ระยะยาว นอกจากนี้ ธุรกิจที่พึ่งพาการส่งออกแม้จะได้ประโยชน์จากเงินบาทที่อ่อนค่า แต่ควรมีการป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงินไว้บ้าง อีกทั้งธุรกิจที่มีสัดส่วนการนำเข้าสูงก็ควรดูแลเรื่องความเสี่ยงจากค่าเงินไว้ด้วย

นอกจากนี้ สำนักวิจัยฯเชื่อมั่นว่าทางคณะกรรมการของธปท. จะสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิ 4 ท่านเพื่อมาแทนกรรมการที่จะหมดวาระลงในช่วงปลายปีด้วยความเป็นกลาง ปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง อันเป็นคุณสมบัติของธปท. ที่นักลงทุนและประชาชนทั่วไปให้ความเชื่อมั่นด้วยดีมาตลอด

นายอมรเทพ กล่าวเสริมว่า สำหรับอัตราเงินเฟ้อมีทิศทางเร่งตัวสูงขึ้น นอกจากจะเป็นเพราะเศรษฐกิจในประเทศกำลังฟื้นตัวและผู้ผลิตสามารถผลักภาระต้นทุนให้แก่ผู้บริโภคได้มากขึ้นแล้ว เงินบาทเองก็มีทิศทางอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ราคาสินค้านำเข้าเร่งตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ สำนักวิจัยคาดการณ์ว่าจะเกิดเงินไหลออกจากตลาดเกิดใหม่อีกครั้งในช่วงปลายปี หลังสิ้นสุดมาตรการ QE โดยคำถามหลังสิ้นสุดมาตรการ QE คือ สหรัฐฯ จะขึ้นดอกเบี้ยเมื่อไหร่?
                                                                  
นักลงทุนจะไม่รอให้สหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ยก่อนแล้วจึงโยกเงินกลับประเทศ แต่จะเริ่มทยอยย้ายเงินออกจากตลาดเกิดใหม่กลับไปถือสินทรัพย์ในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ มากขึ้นในช่วงปลายปี อันจะกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าในที่สุด โดยสำนักวิจัยคาดว่าเงินบาทจะอ่อนค่าไปแตะระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงปลายปีนี้

เมื่อค่าเงินอ่อนค่า ประกอบกับกระแสเงินไหลออกอันส่งผลเสียต่อเสถียรภาพตลาดเงิน สิ่งที่ธนาคารกลางส่วนใหญ่ทำคือการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินไหลออก และลดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ ซึ่งหากดูไปรอบๆ อาเซียนจะเห็นว่าทุกประเทศพร้อมที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยเนื่องจากมีความพร้อมจากอุปสงค์ในประเทศที่มีความเข้มแข็ง ต่างจากประเทศไทยที่กำลังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวหลังจากมีปัญหาทางการเมือง แต่สำนักวิจัยคาดว่าทางกนง. จะเลือกที่จะรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ หากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีมีความแข็งแกร่งขึ้นอย่างชัดเจน



ที่มา: http://www.cimbthai.com/CIMB/news/press_release/4761/

วันอาทิตย์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ต้อนรับเปิดเทอม เพียงแสดงบัตรATM รับส่วนลดค่าเข้า KidZania 30%




ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ร่วมกับคิดส์ซาเนีย กรุงเทพฯ ออกโปรโมชั่นต้อนรับเปิดเทอม “Kool Time 30% off” ผู้ปกครองสามารถพาลูกหลานเข้าเมืองคิดส์ซาเนียได้ในราคาพิเศษ เพียงแค่แสดงบัตรเอทีเอ็มของธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย รับส่วนลด 30% ในการซื้อบัตรเข้าคิดส์ซาเนีย เฉพาะวันจันทร์ถึงศุกร์ หลังเวลา 13.00 น. เป็นต้นไป ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิถุนายน 2557

อนึ่ง ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ในเมืองคิดส์ซาเนียจะช่วยให้เด็กๆ เข้าใจเรื่องรายรับรายจ่าย การฝึกใช้บริการกับธนาคารแบบเสมือนจริง และเป็นการฝึกนิสัยให้เด็กๆ รู้จักการออมเงิน น้องๆ จะได้รับบทบาทในการประกอบอาชีพต่างๆ เมื่อได้เงินคิดส์โซ่ สามารถนำไปฝากในบัญชีของตัวเอง หรือเพื่อใช้จ่ายซื้อของที่ระลึกต่างๆ มากมายภายในคิดส์ซาเนีย




วันอาทิตย์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ยกเครื่องสายงานธุรกิจขนาดใหญ่ ใส่เกียร์เดินหน้าพาบริษัทไทยปักหมุดทั่วอาเซียน ขยายตลาดใหม่ในตลาดใหญ่ AEC

02/06/57



นายพรชัย ปัทมินทร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ธนาคารมีความพร้อมเต็มสูบในการรุกธุรกิจขนาดใหญ่ หลังปรับโครงสร้างสายงานธุรกิจขนาดใหญ่ (Wholesale Banking Group) เสร็จสมบูรณ์ โดยผสานพลังสายงานบรรษัทธุรกิจและวาณิชธนกิจเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้บริการลูกค้าได้ครบทุกความต้องการ ใกล้ชิดลูกค้ามากขึ้น เข้าถึงมากขึ้น และบริการลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ จะรุกธุรกิจด้วยการปักธงเรื่องอาเซียน ซึ่งเป็นจุดแข็งของธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ที่แตกต่างจากผู้ให้บริการรายอื่นๆในตลาด โดยธนาคารได้ตั้งโต๊ะอาเซียนขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อให้คำแนะนำและเป็นที่ปรึกษาแก่บริษัทไทยที่ต้องการแสวงหาโอกาสใหม่ๆในตลาดอาเซียนที่กำลังจะขยายใหญ่ขึ้นทันทีเมื่อ AEC มาถึง
สำหรับโครงสร้างใหม่ของสายงาน Wholesale Banking ประกอบด้วย 5 ทีมหลัก ได้แก่ 1.สายบรรษัทธุรกิจ (Corporate Banking Group) 2.สายวาณิชธนกิจ (Investment Banking Group) 3.ด้านธุรกิจสถาบันการเงิน (Financial Institution Thailand Division) 4.ด้านวิเคราะห์และบริหารความเสี่ยง (Credit and Operational Risk Analytics Division) 5.ด้านกลยุทธ์และสนับสนุนธุรกิจ (Strategy and Support Division) โดยทีมหลักๆเหล่านี้จะทำงานคู่ขนานไปกับโต๊ะอาเซียน โดยแบ่งเป็น ทีมอาเซียน 1 และ ทีมอาเซียน 2 โดย 2 ทีมนี้จะแบ่งกันทำหน้าที่ตามรายอุตสาหกรรมหลักของลูกค้า
"เมื่อเราได้ปรับภายในจนสร้างสายงาน Wholesale Banking เป็นที่เรียบร้อย เราพบว่าคนของเราทำงานประสานกันโดยทุกคนรู้ขอบข่ายงานและหน้าที่ของตัวเองชัดเจน พร้อมแล้วที่จะเดินหน้า ซึ่งผู้ที่จะได้ประโยชน์สูงสุดคือ ลูกค้า เพราะแบงก์จะให้บริการลูกค้าได้ง่ายขึ้น ใกล้ชิดขึ้น ตรงประเด็นมากขึ้น ทำงานสอดผสานกันดีขึ้นกับผลิตภัณฑ์ทุกประเภทในแบงก์ ควบคู่ไปกับเจ้าหน้าผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านแต่ละรายอุตสาหกรรม ยิ่งไปกว่านั้น จุดแข็งที่แตกต่างจากตลาด คือ ASEAN Platform การมีผู้เชี่ยวชาญในแบงก์ มีคนในกรุ๊ป และมีเครือข่ายทั่วภูมิภาค เราอยากทำงานภายในแนวคิดหลัก 'I see the Difference' เพราะถ้ายังทำงานเหมือนผู้เล่นทุกคนในวงการ เราต้องสู้กันด้วยราคา เราจึงขอแข่งด้วยบริการเรื่องอาเซียนที่ดีที่สุด มองเห็นโอกาสที่แตกต่าง และลงไปทำในสิ่งที่แตกต่างจริงๆ"
นายพรชัย กล่าวว่า ผลการดำเนินงานไตรมาสแรกที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนออกมาค่อนข้างดี สายงาน Wholesale Banking สามารถทำรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยเติบโต 18% รายได้ค่าธรรมเนียม เติบโต 48% และสามารถสร้างรายได้ที่เกิดจากธุรกรรมเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนเติบโต 55%
ขณะที่เป้าหมายหลักของปี 2557 คือ การตั้งเป้าหมายรายได้เติบโต 69% จากปี 2556 โดยตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อเติบโต 17% หรือ 1 หมื่นล้านบาทจากปี 2556 ด้านเงินฝากตั้งเป้าจะระดมเงินฝากเข้ามาใหม่เติบโต 21% จากฐานลูกค้าใหม่ 30 บริษัทในปีนี้

"แบงก์เห็นโอกาสอีกมากรออยู่ในตลาดอาเซียน ประตูเปิดรอไว้อยู่แล้วไม่ว่าคุณจะพร้อมหรือไม่ เดิมบริษัทในไทยเคยพึ่งพารายได้จากในประเทศทั้ง 100% หากปัจจัยภายในไม่เอื้ออำนวย รายได้ก็ลดลงไปด้วย แบงก์จึงอยากช่วยลูกค้าหาตะกร้าใบใหม่มากระจายความเสี่ยงด้านรายได้ อนาคตหากยอดขายในประเทศหายไปสักครึ่งหนึ่ง คุณอาจได้รายได้ใหม่จากตลาดนอกประเทศชดเชยกลับมามากกว่าบาทก็ได้ เพราะปลายปี 2558 เมื่อ AEC เกิดขึ้น กำแพงและอุปสรรคต่างๆถูกทำลายลง บ่อปลาจะขยายกลายเป็นมหาสมุทรทันที" นายพรชัย กล่าว




ที่มา : http://www.cimbthai.com/CIMB/news/press_release/4741/

วันอาทิตย์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2557

กลุ่มซีไอเอ็มบี ร่วมกับนิตยสาร Asia Risk จัดงานสัมมนา ASEAN Risk อภิปรายความเสี่ยงของภาคการเงิน


26/05/2014 14:25




       ดาโต๊ะ ลี ก๊อก กวาน (ที่ 3 จากซ้าย) ประธานเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจลูกค้ารายใหญ่ ตลาดเงิน และตลาดทุน กลุ่มซีไอเอ็มบี กล่าวเปิดงานสัมมนา ASEAN Risk ในหัวข้อ “Deepening of ASEAN banking and capital  makets and resilienceto external shocks” ซึ่งเป็นงานสัมมนาที่จัดโดยนิตยสาร Asia Risk โดยกลุ่มซีไอเอ็มบี เป็นผู้สนับสนุนหลัก เพื่อสัมมนาให้ความรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงของอุตสาหกรรมการเงินและการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงในสถานการณ์ที่ต้องเผชิญหน้ากับสภาวะที่ผันผวน ตลอดจนวิธีจัดการเพื่อบรรลุถึงเป้าหมายภายใต้กฎและข้อบังคับต่างๆ งานจัดขึ้น ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมฮิลตัน มิลลิเนียม กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆนี้

วันอังคารที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ห่วงเศรษฐกิจไทยสะสมปัญหาเรื้อรังลงลึกถึงโครงสร้าง มองเศรษฐกิจโตช้า...แต่ยังไม่ถึงทางตัน เผยเบนเข็มลงทุน ค้าขาย ท่องเที่ยวไปกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นทางรอด

20/05/57



      นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย สายบริหารความเสี่ยง ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่ถึงทางตัน แต่เติบโตได้ช้าลงกว่าในอดีต เป็นผลจากปัญหาสะสม ทั้งหนี้ครัวเรือนที่เร่งตัวเร็ว รายได้ภาคการเกษตรตกต่ำ การบริโภคการเอกชนอ่อนแอ อีกทั้งการลงทุนเพื่อตอบโจทย์การบริโภคในประเทศก็ลดลง ประกอบกับมาตรการภาครัฐที่หมดลง ขาดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ฉุดให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะเติบโตช้า อย่างไรก็ดี ปัญหาเหล่านี้แก้ไขได้ แต่ต้องใช้เวลา
"แม้เศรษฐกิจจะโตช้า แต่จะไม่เข้าขั้นวิกฤต หากปัญหาการเมืองได้รับการแก้ไขโดยเร็ว และได้ข้อยุติที่ทุกฝ่ายยอมรับ แม้ปัญหาการเมือง เป็นปัญหาชั่วคราว แต่หากยืดเยื้อจะกดดันความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติที่ไม่คุ้นเคยกับปัญหาการเมืองไทย อย่างไรก็ดี หากปัญหาในประเทศสงบ เศรษฐกิจอาจไม่มีกำลังพอที่จะเร่งตัวได้แรง เพราะปัญหาเศรษฐกิจไทยขยายวงกว้างขึ้น ไม่เพียงด้านความเชื่อมั่น แต่ลงลึกถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็น หนี้ครัวเรือนที่สูง โครงสร้างสินค้าส่งออกที่เป็นที่ต้องการของตลาดโลกลดลง จากเดิมที่คาดว่าปัญหาการเมืองจะยุติช่วงกลางปี และไทยจะมีรัฐบาลได้ในไตรมาส 3 ซึ่งจะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคและนักลงทุน รวมถึงการท่องเที่ยวที่จะส่งผลดีต่อภาคบริการช่วงครึ่งหลังของปี" นายอมรเทพ กล่าว
อย่างไรก็ตาม มองว่าปัญหาดังกล่าวสามารถแก้ไขได้ เพียงแต่ใช้เวลาสักระยะ ซึ่งเมื่อผู้บริโภคและนักลงทุนไทยปรับตัวในการเร่งชำระหนี้ และเพิ่มการลงทุนในด้านเทคโนโลยี เราเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาเข้มแข็งได้อีกครั้ง โดยปัจจัยภาครัฐจะเป็นตัวเสริมให้เศรษฐกิจเร่งตัวขึ้นได้ เมื่อมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เพียงแต่เศรษฐกิจในปีหน้าอาจเติบโตต่ำกว่าศักยภาพที่เรามีหรือที่ทำได้ในอดีต
นายอมรเทพ กล่าวว่า เมื่อความต้องการภายในประเทศอ่อนแอ หรือเข้าขั้นถดถอย ความหวังจึงไปอยู่ที่ภาคการส่งออก ว่าจะเป็นพระเอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยท่ามกลางปัญหาทางการเมือง แต่การเติบโตของการส่งออกกลับติดลบในไตรมาสแรก ทั้งๆ ที่ภาคการส่งออกสินค้า ไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาทางการเมืองมากนัก อีกทั้งเศรษฐกิจโลกก็เติบโตได้ดี นั่นเป็นเพราะปัญหาการส่งออกเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ผู้ผลิตไทยยังอาศัยเทคโนโลยีไม่สูงมาก ในการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ อีกทั้งความต้องการของสินค้าหลายประเภทในตลาดโลกก็ลดลง เช่น อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ โดยเฉพาะ Hard Disk Drive (HDD) และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการบริโภคต่างๆ เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในครั้งนี้ไม่เหมือนเดิม ทั้งนี้ ตั้งแต่ครึ่งหลังของปีก่อน สหรัฐฯฟื้นตัวด้วยภาคการผลิต โรงงานต่างๆ มีความสามารถในการแข่งขันจากต้นทุนแรงงานที่ต่ำ เนื่องจากปัญหาการว่างงานที่สูงได้กดให้ค่าจ้างเติบโตได้ไม่มากนัก ส่งผลให้ความต้องการสินค้าเพื่อการบริโภคไม่สูงขึ้น และความต้องการสินค้าทุนของสหรัฐฯก็ เปลี่ยนไป ขณะที่ไทยไม่สามารถผลิตเครื่องจักรและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เทคโนโลยีสูง หรือไม่ได้อยู่ในวงจรการผลิตของโลก (Global supply chain)
อย่างไรก็ดี การส่งออกสุทธิที่เติบโตได้ดีมาจากการนำเข้าที่หดตัวตามการผลิตและการบริโภคที่ลดลง อันดูเหมือนเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่แท้จริงไม่ได้ช่วยด้านการบริโภคและการลงทุนเลย เป็นเพียงการเติบโตทางเทคนิคเท่านั้น
ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า เมื่อภาคอุปสงค์ในประเทศอ่อนแอ ภาคการส่งออกขยายตัวได้ไม่มาก จากเรื่องปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องใช้เวลา การลงทุน การค้า และการท่องเที่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มประเทศอาเซียนจะเป็นโอกาสและทางรอดสำหรับนักลงทุนในการรับมือกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ช้าลงในปีหน้า โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV โดยอาศัย CLMV เป็นแหล่งวัตถุดิบและตลาด รวมทั้งแรงงานที่สำคัญ อีกทั้งอาศัยการเติบโตของคนชั้นกลางใน CLMV เพื่อขายสินค้าประเภท HDD/Consumer electronics ที่เดิมไทยผลิตเพื่อส่งออกไปตลาดประเทศพัฒนาแล้วเท่านั้น
สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย คาดว่า จากตัวเลขเศรษฐกิจที่สภาพัฒน์ฯและธนาคารแห่งประเทศไทยแถลงมานั้น ทางสำนักวิจัยฯได้ปรับมุมมองทางเศรษฐกิจ โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้เพียง 1.50% ในปี 2557 จากอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอ ขณะที่การส่งออกแม้เติบโตได้ แต่ก็ไม่อาจเร่งตัวได้แรง ส่วนการนำเข้าโตเพียงเล็กน้อย ส่งผลให้การส่งออกสุทธิเร่งตัว ซึ่งภาคต่างประเทศที่เติบโตได้เช่นนี้ ไม่ได้ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องจากเป็นเพียงการเติบโตทางเทคนิคเท่านั้น
ด้านอัตราดอกเบี้ย คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.00% ตลอดทั้งปี แม้เศรษฐกิจจะเติบโตช้าลง จากการที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นจากราคาอาหาร และจากเงินบาทที่มีทิศทางอ่อนค่า และคาดว่าดอกเบี้ยจะขยับขึ้นได้ในปีหน้าหลังมีแรงกดดันจากเงินไหลออก ขณะที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว
สำหรับทิศทางค่าเงินบาท จากภาวะเงินทุนไหลออกที่จะเร่งตัวขึ้น ค่าเงินบาทจึงมีทิศทางอ่อนค่าลงได้ โดยสำนักวิจัยคาดว่าเงินบาทจะไปแตะระดับ 33.00 บาท/เหรียญสหรัฐฯ ในปลายเดือนมิถุนายน โดยจะอ่อนค่ามากขึ้นในช่วงปลายปีหากมีการเปลี่ยนมุมมองต่อความเชื่อมั่นในประเทศ
สำหรับประมาณการเศรษฐกิจปี 2558 สำนักวิจัยฯ คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัว โดยประมาณการเติบโตเศรษฐกิจทั้งปี 2558 ไว้ที่ 3% แม้จะเห็นการฟื้นตัว แต่นับเป็นการเติบโตที่ช้าและต่ำกว่าศักยภาพที่ไทยเคยทำไว้ในอดีต

ที่มา : http://www.cimbthai.com/CIMB/news/press_release/4717/

วันอังคารที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย แต่งตั้ง อมรเทพ จาวะลา เป็นผู้อำนวยการสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย

   
19/05/57
     
        รายงานข่าวจากธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย แจ้งว่า ธนาคารได้แต่งตั้งนายอมรเทพ จาวะลา ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักวิจัย สายบริหารความเสี่ยง ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย มีผลตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นไป รับผิดชอบงานวิจัยสภาพคล่องการเงิน ทิศทางอัตราดอกเบี้ย และภาพรวมเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังดูแลงานวิจัยเพื่อสนับสนุนหน่วยงานต่างๆของธนาคารตลอดจนประเมินโอกาสและความเสี่ยงของกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ

        นายอมรเทพ อายุ 35 ปี เข้ามาร่วมงานกับธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ในตำแหน่งหัวหน้าส่วนวิจัยเศรษฐกิจและตลาดการเงิน สายบริหารความเสี่ยง เมื่อกลางเดือนส.ค. 2556 นายอมรเทพสั่งสมประสบการณ์ด้านงานวิจัยจากการเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ผู้เชี่ยวชาญในการวิจัย ฝ่ายธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย นักวิชาการ ฝ่ายวิจัยนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) อีกทั้งมีประสบการณ์ในการทำงานวิจัยในต่างประเทศ ทั้งจากสถาบันอีสต์เวสต์เซ็นเตอร์ที่สหรัฐฯ และมหาวิทยาลัยนิฮอนที่ญี่ปุ่น และเป็นที่ปรึกษาให้แก่องค์กรสหประชาชาติและหน่วยงานอื่นในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจให้แก่หลายประเทศในเอเชีย แอฟริกาและอเมริกาใต้
นายอมรเทพจบการศึกษาจากมัธยมปลายจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ปริญญาตรีคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (เกียรตินิยมอันดับหนึ่งเหรียญทอง) และปริญญาเอก คณะเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา

        อนึ่ง นายอมรเทพ ได้รับทุนการศึกษาเต็มจำนวน จากสถาบันอีสต์เวสต์เซ็นเตอร์ เพื่อศึกษาในระดับดุษฎีบัณฑิต ณ มหาวิทยาลัยฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา ทุนภูมิพล รางวัลเรียนดีเยี่ยมระดับปริญญาตรี คณะเศรษฐศาสตร์หลักสูตรภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทุนการศึกษาเต็มจำนวนสำหรับนักศึกษาผลการเรียนดีเยี่ยม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และทุนแลกเปลี่ยนของมูลนิธิสิงคโปร์นานาชาติเพื่อไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ระหว่างเดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายน ปี 2542





ที่มา: http://www.cimbthai.com/CIMB/news/press_release/cimb_thai_appoints_amonthep_chawla_as_new_head_of_research_office/