วันศุกร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ริษัท เซ็นเตอร์ ออโต้ ลีส สวมบทบาทฮีโร่ทางการเงิน ให้คำปรึกษาเรื่องซื้อรถใหม่-เก่า บุกฐานลูกค้าธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ดันสินเชื่อเอนกประสงค์สำหรับคนมีรถ "เซ็นเตอร์ ออโต้ แคช" เต็มสูบ

 17/06/57

นายวิสิทธิ์ พึ่งพรสวรรค์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เซ็นเตอร์ ออโต้ ลีส จำกัด (CAL) (Mr. Visit Phuengpornsawan, Managing Director, Center Auto Lease) ผู้ให้บริการสินเชื่อรถยนต์ ในกลุ่มธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า กลยุทธ์ในปีนี้ เซ็นเตอร์ ออโต้ ลีส จะสวมบทบาทเป็น "ฮีโร่" ทางการเงินสำหรับผู้ที่กำลังมองหาสินเชื่อ และผลิตภัณฑ์การเงินครบวงจรที่เกี่ยวกับรถยนต์ทั้งรถใหม่และรถเก่า ด้วยสโลแกน "มีฮีโร่รถสี่ล้อคู่ใจ เรื่องใหญ่กลายเป็นเรื่องเล็ก" โดยนอกจากนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินแล้ว เซ็นเตอร์ ออโต้ ลีส จะทำหน้าที่ดูแลลูกค้าโดยให้คำปรึกษาแก่ลูกค้าที่กำลังจะซื้อรถยนต์ รวมถึงผู้ที่เป็นเจ้าของรถยนต์อยู่แล้วและ ต้องการเงินทุนหมุนเวียน

สำหรับผลิตภัณฑ์ที่กำลังรุก ทำการตลาดในขณะนี้คือ สินเชื่อสำหรับคนมีรถ "เซ็นเตอร์ ออโต้ แคช" อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นเพียง 0.25% ต่อเดือน ระยะเวลาผ่อนนานถึง 84 เดือน พิเศษ สำหรับผู้ที่สมัครและได้รับอนุมัติสินเชื่อภายใน 31 ส.ค. 2557 จะได้รับของสมนาคุณเป็นกล่องรถสี่ล้อคู่ใจ มูลค่า 999 บาท อีกด้วย

"ปีนี้เราจะรุกธุรกิจ Sale & Leaseback โดยใช้มาสคอตฮีโร่เป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งฮีโร่ หมายถึง เราจะเป็น ฮีโร่ในใจของลูกค้า ในการเป็นที่ปรึกษา ผลิตภัณฑ์สินเชื่อ เซ็นเตอร์ ออโต้ แคช จะช่วยลูกค้าที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียน หรือมีความจำเป็นต้องใช้เงิน โดยเริ่มจากฐานลูกค้าของธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ซึ่งในปีนี้บริษัทฯ จะนำเสนอบริการครอบคลุมไปถึงสาขาต่างจังหวัดด้วย จากปีที่แล้วที่ทำตลาดเฉพาะในกรุงเทพฯ ทั้งนี้ เซ็นเตอร์ ออโต้ ลีส ยังมีแผนจับตลาดรถบรรทุกใหม่ ,รถบรรทุกใช้แล้ว และสินเชื่อ 'เซ็นเตอร์ ออโต้ แคชรถบรรทุก' เน้นขยายฐานลูกค้า กลุ่มผู้ประกอบการที่มีรถเป็นของตัวเอง และต้องการเงินทุนเพิ่มเติม หรือต้องการขยายกิจการ เพียงติดต่อ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ทุกสาขา ใกล้บ้านท่าน หรือ โทร.02-673-9988 ทางบริษัทยินดีที่จะให้คำปรึกษา" นายวิสิทธิ์ กล่าว

นายวิสิทธิ์ กล่าวว่า การขยายธุรกิจจากฐานลูกค้าของธนาคารนับเป็นโอกาสที่เหมาะกับตลาดในช่วงนี้ เพราะเป็นลูกค้ากลุ่มที่ธนาคารได้กลั่นกรอง และรู้จักลูกค้ามาแล้วในระดับหนึ่ง ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดหนี้ ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาตัวเลขหนี้เอ็นพีแอลของบริษัท นับว่าอยู่ในระดับที่ดี เมื่อเทียบกับตลาด จากข้อมูลการสำรวจตลาดผู้เล่นรายอื่นในพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์โดยรวม จะมีรถใหม่ราวๆ 70% ที่เหลือเป็นรถเก่า 30% มี NPL ประมาณ 1-2% ขณะที่พอร์ตสินเชื่อของบริษัทเป็นรถเก่า โดยรถใหม่ และรถบรรทุก ซึ่งเริ่มต้นในปีนี้ บริษัทมี NPL เฉลี่ยราวๆ 2% ซึ่งเป็นตัวเลขที่คุมได้ดีเมื่อเทียบกับสัดส่วนที่มีรถเก่าเป็นส่วนใหญ่

"ปัจจุบัน เซ็นเตอร์ ออโต้ ลีส มีขนาดพอร์ตสินเชื่อ 1.4 หมื่นล้านบาท อาจไม่ใหญ่มากเมื่อเทียบกับผู้เล่นรายใหญ่ๆ ในตลาด แต่จุดแข็งอยู่ที่ความรวดเร็ว คล่องตัว ดูแลลูกค้าใกล้ชิด ใช้การผสานพลังจากเครือข่ายของธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ที่มีสาขาทั่วประเทศ และมีระบบที่พร้อมให้บริการ มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับดีลเลอร์รถยนต์ หากเรานำจุดแข็งทั้งหมดที่มีผสานเข้ากับความเข้าใจลูกค้าและการ ให้บริการที่ดี เซ็นเตอร์ ออโต้ ลีส จะเป็นอีกหนึ่ง ผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่จะเข้าไปอยู่ในใจของผู้บริโภค ยิ่งไปกว่านั้น ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ซึ่งเป็นบริษัทแม่ มีเป้าหมายชัดเจนของการก้าวเป็นธนาคารเพื่ออาเซียน รองรับการมาของ AEC นับเป็นโอกาสและเป็นตลาดที่จะกว้างขึ้นมาก ซึ่งรอให้เราขยายธุรกิจได้อีกในอนาคต" นายวิสิทธิ์ กล่าว




วันจันทร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2557

สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย มองไทยใกล้สิ้นสุดยุคดอกเบี้ยต่ำ...เตือนรับมือดอกเบี้ยขาขึ้นปลายปีนี้

18/06/57
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า จากการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.00% เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2557 เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ นั้น สำนักวิจัยฯมองว่า ภายหลังจากที่มีรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มทำให้นโยบายทางการคลังสามารถกลับมาทำหน้าที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ ด้วยการเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณ ดังนั้นนโยบายทางการเงินจึงไม่จำเป็นต้องผ่อนคลายลงไปอีกเพื่อทำหน้าที่กระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ควรหันกลับไปทำหน้าที่หลักด้วยการดูแลเสถียรภาพราคาและค่าเงินอีกทั้งความเชื่อมั่นของทั้งผู้บริโภคและนักลงทุนก็มีท่าทีจะพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น อันจะสนับสนุนให้เศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีฟื้นตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะหากนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาท่องเที่ยวในประเทศไทย ก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคบริการเป็นอย่างดี
                                                                 
"ด้วยปัจจัยด้านนโยบายการคลังที่เริ่มเร่งตัว และความเชื่อมั่นที่เริ่มฟื้น จึงคาดว่าเศรษฐกิจไทยกำลังจะสิ้นสุดยุคดอกเบี้ยต่ำ เนื่องจากเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวจะเร่งให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น อันจะเป็นเหตุให้ทางกนง.ต้องหันมาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อรักษาเสถียรภาพ สำนักวิจัยฯคาดว่ากนง. อาจเริ่มปรับดอกเบี้ยขึ้นได้รอบแรกในเดือนธันวาคมนี้ และจะทยอยปรับดอกเบี้ยต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า ดังนั้น ภาคธุรกิจควรเตรียมพร้อมรับมือกับดอกเบี้ยขาขึ้น และสภาพคล่องที่จะตึงตัวได้ " นายอมรเทพ กล่าว

นายอมรเทพ กล่าวว่า เมื่อเศรษฐกิจเข้าสู่ช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ครัวเรือนที่มีหนี้สูงควรระมัดระวังการก่อหนี้เพิ่ม โดยเฉพาะหากแนวโน้มรายได้ที่คาดว่าจะได้รับเติบโตได้ไม่มากนัก ในส่วนของการลงทุนซื้อบ้าน ช่วงนี้อาจเป็นจังหวะที่ดีที่ผู้ประกอบการมีการแข่งขันกันมาก อันเป็นผลให้ราคาอยู่ในระดับไม่สูงขึ้นนัก สำหรับผู้ฝากเงิน ช่วงนี้อาจเลือกการฝากประเภทคงดอกเบี้ยในระยะ 6 เดือนก่อน เพื่อเปิดโอกาสให้ได้รับผลตอบแทนสูงขึ้นในอนาคต

ในขณะที่ภาคธุรกิจที่คาดว่าจะเร่งการลงทุนในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้าอาจจะต้องมีการเตรียมความพร้อมด้านการเงิน ทั้งจากสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์เองที่จะเริ่มตึงตัวมากขึ้น และจากต้นทุนการเงินหรือดอกเบี้ยที่จะขยับขึ้น ดังนั้น ธุรกิจเองจึงควรหาทางระดมทุนแต่เนิ่นๆ และเลือกที่จะกู้เงินประเภทคงอัตราดอกเบี้ยไว้ระยะยาว นอกจากนี้ ธุรกิจที่พึ่งพาการส่งออกแม้จะได้ประโยชน์จากเงินบาทที่อ่อนค่า แต่ควรมีการป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงินไว้บ้าง อีกทั้งธุรกิจที่มีสัดส่วนการนำเข้าสูงก็ควรดูแลเรื่องความเสี่ยงจากค่าเงินไว้ด้วย

นอกจากนี้ สำนักวิจัยฯเชื่อมั่นว่าทางคณะกรรมการของธปท. จะสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิ 4 ท่านเพื่อมาแทนกรรมการที่จะหมดวาระลงในช่วงปลายปีด้วยความเป็นกลาง ปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง อันเป็นคุณสมบัติของธปท. ที่นักลงทุนและประชาชนทั่วไปให้ความเชื่อมั่นด้วยดีมาตลอด

นายอมรเทพ กล่าวเสริมว่า สำหรับอัตราเงินเฟ้อมีทิศทางเร่งตัวสูงขึ้น นอกจากจะเป็นเพราะเศรษฐกิจในประเทศกำลังฟื้นตัวและผู้ผลิตสามารถผลักภาระต้นทุนให้แก่ผู้บริโภคได้มากขึ้นแล้ว เงินบาทเองก็มีทิศทางอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ราคาสินค้านำเข้าเร่งตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ สำนักวิจัยคาดการณ์ว่าจะเกิดเงินไหลออกจากตลาดเกิดใหม่อีกครั้งในช่วงปลายปี หลังสิ้นสุดมาตรการ QE โดยคำถามหลังสิ้นสุดมาตรการ QE คือ สหรัฐฯ จะขึ้นดอกเบี้ยเมื่อไหร่?
                                                                  
นักลงทุนจะไม่รอให้สหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ยก่อนแล้วจึงโยกเงินกลับประเทศ แต่จะเริ่มทยอยย้ายเงินออกจากตลาดเกิดใหม่กลับไปถือสินทรัพย์ในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ มากขึ้นในช่วงปลายปี อันจะกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าในที่สุด โดยสำนักวิจัยคาดว่าเงินบาทจะอ่อนค่าไปแตะระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงปลายปีนี้

เมื่อค่าเงินอ่อนค่า ประกอบกับกระแสเงินไหลออกอันส่งผลเสียต่อเสถียรภาพตลาดเงิน สิ่งที่ธนาคารกลางส่วนใหญ่ทำคือการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินไหลออก และลดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ ซึ่งหากดูไปรอบๆ อาเซียนจะเห็นว่าทุกประเทศพร้อมที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยเนื่องจากมีความพร้อมจากอุปสงค์ในประเทศที่มีความเข้มแข็ง ต่างจากประเทศไทยที่กำลังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวหลังจากมีปัญหาทางการเมือง แต่สำนักวิจัยคาดว่าทางกนง. จะเลือกที่จะรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ หากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีมีความแข็งแกร่งขึ้นอย่างชัดเจน



ที่มา: http://www.cimbthai.com/CIMB/news/press_release/4761/